เพชฌฆาตสยามเมืองยิ้ม : 5 ตำนานหมายเลข 9 ทีมชาติไทย

โพสต์โดย : Admin เมื่อ 9 มี.ค. 2560 14:00:02 น. เข้าชม 1370 ครั้ง แจ้งลบ



มัน คือ หนึ่งในหมายเลขอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งใครก็ตามที่สวมใส่ ต้องยอมรับที่จะแบกความกดดันว่า “ต้องทำประตูให้ได้ (มากๆ)” เอาไว้บนบ่า...ถ้าไม่ผ่านผู้นั้นเป็นเพียง “ถ่าน” แต่ถ้าผ่าน ผู้นั้น คือ “หิน” พวกเขาจะกลายเป็นขวัญใจแฟนบอล  

นี่ คือ 5 กองหน้าเบอร์ 9 ของทีมชาติไทย ที่สร้างเสียงเฮให้เหล่าแฟนบอล จนใครๆ ต้องเรียกว่า “ตำนาน”


อุดมศิลป์ สอนบุตรนาค

ตำนานหมายเลข 9 ทีมชาติไทยคนแรก คือ “รถด่วนเมืองละโว้”  อุดมศิลป์ สอนบุตรนาค แข้งดังจาก จังหวัดลพบุรี ที่นับเป็นขวัญใจแฟนฟุตบอลไทย ระหว่างปี พ.ศ. 2509-2511

ชื่อของดาวยิงรายนี้ก้าวขึ้นมาเป็นตัวหลักทีมชาติไทยชุดใหญ่ตลอดตั้งแต่รายการ เอเชียนเกมส์,  รวมถึงกีฬาแหลมทอง (ซีเกมส์ในปัจจุบัน) เขาเป็นกองหน้าสไตล์แข็งแกร่ง เร็ว ดุดัน และยิงประตูได้ครบเครื่อง ซึ่งไฮไลท์ที่ผู้คนต้องจดจำไปตลอดกาลของเขา คือ การยิงประตูให้ทีมชาติไทย ในโอลิมปิก เกมส์ 1968 (พ.ศ.2511) ที่ประเทศเม็กซิโก ครั้งนั้น ทีมชาติไทย อยู่กลุ่มดี ร่วมกับ เช็กโกสโลวาเกีย, บัลแกเรีย และ กัวเตมาลา เกมนัดแรกไทยประเดิม พ่าย บัลแกเรีย 0-7 เกมนัดที่ 2 ไทย ต้องเล่นกับ กัวเตมาลา แม้จะแพ้ไป 1-4 แต่หลังโดนยิงนำ 1-0 อุดมศิลป์ ก็เป็นผู้ซัดประตูตีเสมอให้ไทยจนกลายเป็นประตูประวัติศาสตร์

ลูกยิงดังกล่าวกลายเป็นประตูแห่งความทรงจำที่เกิดขึ้นเพียงประตูเดียวมาจนถึงทุกวันนี้ในการแข่งขัน โอลิมปิก เกมส์ รอบสุดท้าย ของทีมชาติไทย

หลังจบทัวร์นาเมนต์นั้น “รถด่วนเมืองละโว้”  ขึ้นเครื่องตรงจากเม็กซิโก มุ่งหน้าไปศึกษาต่อที่ สหรัฐอเมริกาทันที โดยปัจจุบันเขายังใช้ชีวิตอยู่ที่แดนลุงแซมเสียเป็นส่วนใหญ่



เจษฎาภรณ์  ณ พัทลุง

“สุภาพบุรุษลูกหนัง” เจษฎาภรณ์  ณ พัทลุง กองหน้าระดับตำนานทีมชาติไทย แม้ภายใต้สโมสรการท่าเรือไทย เขาจะสวมใส่เบอร์ 10 แต่กับทีมชาติไทย เขายึดครองหมายเลข 9 มากกว่า

ทีมชาติไทยในยุค พ.ศ. 2519-2524 คือช่วงเวลาที่ยอดเยี่ยมสุดขีดของจอมสังหารประตูรายนี้
เจษฎาภรณ์ ณ พัทลุง ประสบความสำเร็จทั้งรายการ คิงส์คัพ และ ซีเกมส์ โดยเกมฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกโซนเอเชีย รอบแรก จัดการแข่งขันที่ประเทศสิงคโปร์ คือในหนึ่งไฮไลท์สำคัญ...เกมที่ไทยพ่าย มาเลเซีย 4-6  เจษฎาภร ณ พัทลุง ยิงให้ทีมชาติไทย 2 ประตู ในนาทีที่ 24 และนาทีที่ 67 และ อีกเกมไทยชนะ อินโดนีเซีย 3 - 2 เจษฎาภรณ์  ใส่ชื่อยิงประตูให้ไทยได้อีกหนึ่งลูก ซึ่งเขากลายเป็นนักเตะไทยคนแรกที่ยิงประตูในฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกโซนเอเชีย ให้กับทีมชาติไทย

เจษฎาภรณ์ ณ พัทลุง ได้โอกาสจับคู่กับ ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน ดาวรุ่งพุ่งแรงทีมชาติไทยในขณะนั้น และนั่นเปรียบเสมือนการส่งต่อหมายเลข 9 เพราะมันเป็นเกมสุดท้ายที่เขาลงเล่นให้ทีมชาติไทย ก่อนได้รับบาดเจ็บจนขาหัก หลังกลับมาเล่นให้ต้นสังกัดการท่าเรือฯ จนต้องแขวนสตั๊ดไปในที่สุด



ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน

นี่ คือ ตำนานหมายเลข 9 ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล… และเป็นนักเตะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลของประวัติศาสตร์ลูกหนังไทย

“เดอะตุ๊ก” ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน ได้ก้าวขึ้นมาสวมเสื้อเบอร์ 9 แทนที่ เจษฎาภรณ์ ณ พัทลุง เขา คือ กองหน้าอัจฉริยะที่แม้ไม่ต้องซ้อมก็ยิงประตูได้เป็นว่าเล่น เขาเปี่ยมไปด้วยเทคนิคที่ยอดเยี่ยม มีความเร็ว รูปร่างสูงใหญ่ แต่พริ้วไหว ทำประตูแบบครบเครื่องได้เท้าซ้าย-ขวา และลูกโหม่ง นับเป็นกองหน้าในอุดมคติ


เพลงแข้งของเขาเหมือนกับมีเวทมนตร์ เพราะเขาสามารถสะกดให้ผู้คนตื่นตาตื่นใจกับความสุดยอดของเขาได้แทบทุกนาทีบนสนาม โดยเขาก้าวขึ้นมาติดทีมชาติไทยตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 20 ปี ใน “กุนซือเทวดา” อ.ประวิทย์ ไชยสาม ปี พ.ศ. 2524 เขาพาทีมไทย ประสบความสำเร็จทุกรายการ ทั้ง คิงส์ คัพ 5 สมัย, ซีเกมส์  6 สมัย รวมไปถึงเกมประวัติศาสตร์ที่ไทย อัด ญี่ปุ่น ในศึกฟุตบอลโอลิมปิก รอบคัดเลือก ที่ประเทศสิงคโปร์ 5-2 เมื่อปี พ.ศ. 2527

ในนามทีมชาติไทยตลอด 17 ปี (พ.ศ. 2524 - 2540) และจำนวน 103 ประตูที่ทำได้ ทำให้ไร้กองหน้าคนใดมากล้าทาบรัศมีแย่งเบอร์ 9 จากเขา… ความจริงไม่ใช่แค่กับทีมชาติไทย แต่กับทีมทหารอากาศ ต้นสังกัดที่ปลุกปั้นเขามา ตลอดจนลัคกี้ โกลด์ สตาร์ หรือ เอฟซี โซล ในปัจจุบัน ตลอดจนปะหังในมาเลเซีย เขาก็เป็นหนึ่งในผู้เล่นกองหน้าเบอร์ 9 ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของทั้งสามสโมสร…

น่าเสียดายที่ความเป็นศิลปินที่มากเกินไปหน่อยของเขา ทำให้อดค้าแข้งกับอันเดอร์เลชท์ ยอดทีมชั้นนำของเบลเยี่ยม...



เนติพงษ์ ศรีทองอินทร์

กองหน้าดาวรุ่งวัย 21 ปี ลูกครึ่งไทย - ฝรั่งเศส (ขณะนั้น) คือ ผู้ที่สืบทอดตำนานกองหน้าหมายเลข 9 ของไทย ต่อจาก “เดอะตุ๊ก” ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน…

อัลเฟร็ด-เนติพงษ์ ศรีทองอินทร์ จากดาวยิงดีกรีทีมสโมสรในลีกระดับ 3 แดนน้ำหอม “นอยซี” (Olympique Noisy-le-Sec) เลือกมุ่งหน้ากลับไทย ด้วยความหวังจะเล่นทีมชาติ เขามุ่งหน้าเดินดุ่มๆไปขอคัดตัวที่สนามกีฬาแห่งชาติศุภชลาศัย และใช้เวลาแค่ 2 สัปดาห์ สร้างความประทับใจให้สต๊าฟฟ์โค้ช  

อัลเฟร็ด ไม่ใช่กองหน้าที่เปี่ยมไปด้วยเทคนิค และทักษะที่น่าอัศจรรย์ใจ แต่เขา คือ กองหน้าตามตำรา แข็งแกร่ง เข้าฮอร์สอย่างดุดัน ยิงได้เฉียบคม ตัดสินใจรวดเร็ว สปริงข้อเท้ายอดเยี่ยม ช่วยให้กลายเป็นศูนย์หน้าจอมโหม่ง ทั้งที่มีส่วนสูงเพียง 170 กว่าเซนติเมตร สไตล์การเล่นของเขา แทบหาไม่ได้ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และนั่น ทำให้เขาโดดเด่นนัก…

เนติพงษ์ สร้างชื่อจริงๆ จังๆ ในนามนักเตะของกสิกรไทย ภายใต้การคุมทีมของ “โค้ชหรั่ง” ชาญวิทย์ ผลชีวิน ก่อนเกรียงไกรในระดับเอเชีย เมื่อเขาช่วยให้ทีมรวงข้าว คว้าแชมป์เอเชีย เป็นสมัยที่ 2 และเป็นดาวซัลโวเสียแทบทุกรายการในไทย ก่อนพาทีมชาติไทย คว้าเหรียญทองซีเกมส์ ต่อด้วยการคว้าแชมป์ไทเกอร์ คัพ (ซูซูกิ คัพ ในปัจจุบัน) เมื่อปี 1996 พร้อมคว้าดาวซัลโวไปครอง


ทวงท่าการทำประตูในกรอบ 18 หลา… การทิ้งตัวโหม่งผลิตสกอร์ พร้อมท่าดีใจ ด้วยการใช้สองมือบรรจงส่งจูบกระโดดตัวลอยมอบแด่แฟนบอล คือ เอกลักษณ์ที่แฟนบอลจดจำ  “อัลเฟร็ด” ได้ติดตา เพียงแต่ชีวิตนักเตะของเขานั้นแสนสั้น หลังประตูความสำเร็จแทบทุกอย่างกับไทย ภายในระยะเวลาแค่ 3-4 ปี เขาตัดสินใจแขวนสตั๊ดด้วยเหตุผลสั้นๆว่า “เบื่อแล้ว”

เนติพงษ์ ศรีทองอินทร์ หันไปประกอบอาชีพอื่น ทั้งเป็นโปรกอล์ฟ โค้ชฟิตเนส และนักโภชนาการ แต่เมื่อปลายปีก่อน เขากลับมาสู่วงการลูกหนังอีกครั้งหลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช หรือ ในหลวง รัชกาลที่ 9 พร้อมเปิดใจถึงสาเหตุที่เขาลาสนามไป

แต่ไม่ว่ายังไงแฟนบอลในยุค ‘90 คงจดจำกองหน้าหมายเลข 9 คนนี้ได้เป็นอย่างดี 


มานิตย์ น้อยเวช

จากความใฝ่ฝันวัยเด็กบนทุ่งหญ้าสีเขียวที่จังหวัดสุพรรณบุรี ที่จะเป็นนักฟุตบอล พร้อมบอกกับตัวเองว่า เรา คือ “ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน” ไอดอลกองหน้าหมายเลข 9… ไม่น่าเชื่อว่า ท้ายที่สุดเมื่อเติบใหญ่ เขาได้สานเบอร์เสื้อแห่งตำนานหมายเลขนี้

“ริวัลโด้กั๊ก” มานิตย์ น้อยเวช  เริ่มจากเป็นเด็กปั้นของ อาจารย์ ชนะ ยอดปรางค์ ในยุครุ่งเรืองของสุพรรณบุรี ที่คว้าแชมป์ในระดับโปรวินเชียลลีก เขาคือ 1 ใน 3 ทหารเสือ  รุ่นเดียวกับ คัมภีร์ ปิ่นฑะกูล และ เบคเค่นบาวน์ เสืออินทร์… เขาเริ่มติดทีมชาติชุดนักเรียนไทยรุ่น 18 ปี ชิงแชมป์เอเชีย ก่อนก้าวขึ้นไปติดธงชุดปรีโอลิมปิก, ซีเกมส์ และเอเชียนเกมส์ ตลอดจนทีมชาติชุดใหญ่ ระหว่างปี พ.ศ. 2544 - 2547


ช่วงที่ผู้คนจดจำเบอร์เสื้อหมายเลข 9 พร้อมกับชื่อ มานิตย์ น้อยเวช มากที่สุด คือ การแข่งขัน เอเชี่ยน เกมส์ 2002 ที่ปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ โดยประตูสร้างชื่อของเขาในทัวร์นาเม้นต์นั้น คือ การยิงประตูชัยให้ไทยชนะเกาหลีเหนือในรอบก่อนรองชนะเลิศ ซึ่งเขายิงไปเบ็ดเสร็จไป 3 ประตู พาทีมไทยคว้าอันดับ 4 ได้สำเร็จ

หลังเส้นทางทีมชาติของเขาเริ่มปิดลง เพราะนักเตะคลื่นรุ่นใหม่ที่เข้ามาทดแทน เขาหันมาจริงจังกับการเล่นทีมระดับสโมสรมากขึ้น ทั้ง ธ.กรุงเทพ, พนักงานยาสูบ, เพื่อนตำรวจ, เชียงราย และเริ่มลดระดับตัวเองลงมาเรื่อยๆจนถึงระดับดิวิชั่น 2 และแขวนสตั๊ดไปในที่สุด



ที่มา: http://www.fourfourtwo.com/th/features/ephchchkhaatsyaamemuuengyim-5-tamnaanhmaayelkh-9-thiimchaatiaithy