ย้อนรอยฟุตบอลโลก : ชิลี 1962

โพสต์โดย : Admin เมื่อ 9 มิ.ย. 2561 11:50:51 น. เข้าชม 652 ครั้ง แจ้งลบ


ก่อนทัวร์นาเมนต์ที่รัสเซียจะเริ่มต้น เรามาย้อนอดีตเวิลด์คัพที่ผ่านมากัน และนี่คือรอบสุดท้ายของเวิลด์คัพ 1962 ที่ประเทศชิลี


ทวีปอเมริกาใต้ได้เฉลิมฉลองความสำเร็จกันอีกครั้ง เมื่อบราซิลยังโชว์ฟอร์มได้อย่างไร้เทียมทานด้วยการคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกติดต่อกันอีกครั้ง หลังจากเพิ่งทำสำเร็จเมื่อสี่ปีที่แล้ว
จากทั้งหมด 52 ทีมในรอบคัดเลือก เหลือเพียง 16 ทีมในรอบสุดท้าย แต่น่าเสียดายที่ สวีเดน และ ฝรั่งเศส ทีมอันดับสองและสามจากฟุตบอลโลกครั้งที่แล้ว พลาดการมีส่วนร่วมในครั้งนี้
การเตรียมพร้อมสู่การเป็นเจ้าภาพของชิลีต้องเจออุปสรรคพอสมควรเมื่อต้องพบภัยธรรมชาติแผ่นดินไหวในปี 1960 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2,000 คน และสนามที่ใช้จัดการแข่งขันถึงสี่สนามได้รับความเสียหายอย่างมาก จนเกือบถูกฟีฟ่ายกเลิกสิทธิการเป็นเจ้าภาพ
อย่างไรก็ตามสนามต่างๆถูกซ่อมแซมเรียบร้อยทันเวลา รวมถึงสนามในเมือง ซินา เดล มา และเมือง อาริก้า ที่ถูกสร้างขึ้นใหม่อย่างรวดเร็ว และถูกใช้ในการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งนี้ถึงสี่แมตช์
การใช้ระบบผลต่างประตูได้เสียเพื่อหาทีมเข้ารอบในกรณีที่มีสองทีมคะแนนเท่ากัน ถูกใช้ในศึกฟุตบอลโลกครั้งนี้ โดยอาร์เจนตินาเป็นทีมเดียวที่ถูกกฎนี้เล่นงาน เมื่อทีมฟ้าขาวมีคะแนนเท่ากับอังกฤษในรอบแรกกลุ่ม 4 แต่ต้องหล่นไปเป็นอันดับสามเพราะทีมสิงโตคำรามมีประตูได้เสียดีกว่า ตกรอบแรกไปในที่สุด






บราซิล เปิดฉากทัวร์นาเม้นท์ด้วยชัยชนะ 2-0 เหนือ เม็กซิโก โดยเปเล่ ซึ่งเป็นสตาร์หมายเลขหนึ่งของทีมแซมบ้ายุคนั้นทำได้หนึ่งประตู
อย่างไรก็ตาม เปเล ก็มาได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรงในเกมเสมอกับ เชโกสโลวาเกีย และทำให้ชวดลงสนามช่วยทีมตลอดทัวร์นาเม้นท์
แต่ถึงแม้ เปเล จะไม่สามารถช่วยทีมได้ บราซิล ก็ยังดีสตาร์ดวงอื่นอย่าง อมาริลโด้ และ การ์รินชา ที่โชว์ลีลาช่วยทีมแซมบ้าให้ไม่ได้ลดความน่ากลัวลงแม้แต่น้อย
แมตช์ที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในรอบแบ่งกลุ่มได้แก่เกมอันน่าเกลียดที่ถูกขนานนามว่า “Battle of Santiago” ระหว่าง ชิลี กับ อิตาลี ที่เต็มไปด้วยความรุนแรง โดยเจ้าภาพเป็นฝ่ายเอาชนะไปได้ 2-0 โดยที่พลพรรคอัซซูรีเหลือผู้เล่นเพียงแค่เก้าคนเท่านั้นในเกมนี้
ก่อนเกมนี้จะเริ่ม มีบทความจากสื่อมวลชนในอิตาลีที่จุดประกายความขัดแย้งระหว่างสองประเทศ ทำให้เกมนี้เต็มไปด้วยความตึงเครียด จนทำให้ จอร์โจ้ เฟร์รินี และ มาริโอ ดาวิด ต้องถูกไล่ออกจากสนามฐานเข้าสกัดรุนแรงใส่นักเตะเจ้าถิ่น
เฟร์รินี ปฏิเสธที่จะเดินออกจากสนามจนต้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมาควบคุมตัวออกไป เนื่องจากมองว่านักเตะชิลีก็เล่นรุ่นแรงไม่แพ้กันแต่กลับไม่โดนลงโทษ



ประตูในช่วงท้ายเกมจาก ไฆเม รามิเรซ และ ฆอร์เก้ โทโร ช่วยให้เจ้าบ้านเป็นฝ่ายชนะ 2-0 แต่มันก็ยากจะพูดว่านี่คือเกมฟุตบอลที่สวยงาม
สหภาพโซเวียต, เยอรมันตะวันตก, บราซิล และ ฮังการี คือทีมอันดับหนึ่งของทั้งสี่กลุ่มในรอบแรก ขณะที่ ยูโกสลาเวีย, ชิลี, เชโกสโลวาเกีย และ อังกฤษ ผ่านเข้ารอบมาได้ด้วยการเป็นอันดับสองของกลุ่ม
อิตาลี - แชมป์โลกปี 1934 และ 1938 รวมถึง  สเปน ทีมซึ่งมีอดีตกองหน้าทีมชาติฮังการีชื่อดังอย่าง เฟเรนซ์ ปุสกัส เป็นตัวชูโรง ต่างตกรอบแรกไปอย่างพลิกความคาดหมาย
ชิลี เอาชนะแชมป์ยุโรปอย่างสหภาพโซเวียตไปได้ 2-1 ในรอบแปดทีมสุดท้าย ขณะที่บราซิลได้ การ์รินชา เหมาคนเดียวสองประตูเอาชนะ อังกฤษ แบบไม่ยากเย็น 3-1
อีกสองคู่ที่เหลือในรอบแปดทีมสุดท้ายเกิดเหตุการณ์พลิกล็อคขึ้นเมื่อ ยูโกสลาเวีย ช็อคโลกด้วยการเฉือนเอาชนะ เยอรมันตะวันตก 1-0 เช่นเดียวกับ เชโกสโลวาเกีย ที่เอาชนะ ฮังการี ได้ด้วยสกอร์เดียวกัน
รอบรองชนะเลิศ บราซิล ต้องโคจรมาพบกับเจ้าภาพชิลี ก่อนที่ทีมแซมบ้าจะเอาชนะได้ด้วยสกอร์ 4-2 และเป็นอีกหนึ่งเกมที่ การ์รินชา ทำคนเดียวสองประตู ขณะที่อีกคู่หนึ่ง เชโกสโลวาเกีย ก็เอาชนะ ยูโกสลาเวีย 3-1 ผ่านเข้าชิงชนะเลิศกับแชมป์เก่า
นัดชิงชนะเลิศ ยูโกสลาเวีย ทำเซอร์ไพรส์ด้วยการได้ประตูนำไปก่อนในนาทีที่ 15 จาก โจเซฟ มาโซปุสต์ แต่บราซิลก็มาตีเสมอได้อย่างรวดเร็วในอีกสองนาทีถัดมาจาก อมาริลโด้ ก่อนที่ ซิโก้ และ วาวา จะบวกเพิ่มอีกคนละประตูช่วยให้ บราซิลเอาชนะไปได้ในที่สุด 3-1 คว้าแชมป์โลกมาครองได้สองสมัยติดต่อกัน ต่อหน้าแฟนบอลกว่า 68,000 คนในสนาม